ชื่อสมุนไพร |
ยอป่า |
ชื่ออื่นๆ |
สลักป่า สลักหลวง (เหนือ) คุย (พิษณุโลก) โคะ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Morinda coreia Buch.-Ham. |
ชื่อพ้อง |
Morinda exserta Roxb., Morinda tinctoria |
ชื่อวงศ์ |
Rubiaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 15 เมตร ลำต้นตั้งตรง กิ่งก้านมักคดงอ หักง่าย ผิวกิ่งมีปุ่มปมมาก ช่อดอกและใบออกหนาแน่นรวมกันที่ปลายกิ่ง เรือนยอดเป็นพุ่มรี เปลือกลำต้นสีน้ำตาลอมเทา หนาแตกเป็นร่องตามยาว และแนวขวาง หรือเป็นสะเก็ดสี่เหลี่ยมเล็กๆ ใบ เดี่ยว รูปรีหรือไข่กลับ เรียงตัวแบบตรงข้ามสลับตั้งฉาก ปลายใบมนหรือแหลม ฐานใบแหลมหรือเบี้ยว ขอบใบเรียบ และเป็นคลื่น หลังใบสีเขียวเป็นมัน ท้องใบสีอ่อนกว่า ใบแก่บาง เหนียว ผิวใบด้านบนมีขนสากประปราย ด้านล่างมีขนนุ่ม ขนาดของใบ 4-7 x 8-17 ซม. มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบ หลุดร่วงง่าย มักพบใบออกรวมกันอยู่ที่ปลายกิ่ง ดอกเป็นช่อ ออกรวมกันเป็นกลุ่มที่ซอกใบ หรือปลายกิ่ง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด กลีบดอกสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ขนาดดอก 1.5 เซนติเมตร ปลายกลีบแหลม แยกเป็น 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยม กลีบดอกหนาเมื่อดอกบานปลายกลีบแผ่กว้างออก หลอดกลีบเลี้ยงด้านบนแบน สีเขียวอมเหลือง เชื่อมติดกับกลีบดอกข้างเคียงที่ฐาน เกสรตัวผู้สั้น 5 อัน ชูพ้นหลอดกลีบดอก ผลเป็นผลรวมรูปร่างค่อนข้างกลม ผลอ่อนสีเขียว เนื้อในอ่อนนุ่ม ฉ่ำน้ำ สีขาว ผลแก่สีดำ มีเมล็ดมาก สีน้ำตาล เมล็ดแบน 1 เมล็ดต่อหนึ่งผลย่อย ออกดอกเดือนเมษายน-กรกฎาคม ผลออกช่วงพฤษภาคม-สิงหาคม พบในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ยอป่าเป็นไม้มงคลของอีสาน ในการนำข้าวขึ้นยุ้งจะตัดกิ่งยอป่ามาค้ำยุ้งไว้ก่อนนำข้าวขึ้นยุ้ง เพื่อเป็นสิริมงคล มีความหมายว่าให้ข้าวเพิ่มพูน