ตะกู
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anthocephalus chinensis (Lamk.) A. Rich. ex Walp.
วงศ์ : RUBIACEAE

กระทุ่ม หรือ ตะกู

ชื่อวิทยาศาสตร์ Neolamarckia cadamba (Roxb.) BosserRubiaceae

ชื่อสามัญ  Cadamba, Common bur-flower, Kadam

ชื่ออื่น   กรองประหยัน (ยะลา); กระทุ่ม (ภาคกลาง, ภาคเหนือ); กระทุ่มบก (กรุงเทพฯ); กว๋าง (ลาว); โกหว่า (ตรัง); แคแสง (ชลบุรี); ตะกู (จันทบุรี, นครศรีธรรมราช, สุโขทัย); ตะโกส้ม (ชัยภูมิ, ชลบุรี); ตะโกใหญ่ (ตราด); ตุ้มก้านซ้วง, ตุ้มก้านยาว, ตุ้มเนี่ยง, ตุ้มหลวง (ภาคเหนือ); ตุ้มขี้หมู (ภาคใต้); ทุ่มพราย (ขอนแก่น); ปะแด๊ะ, เปอแด๊ะ, สะพรั่ง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ปาแย (มาเลย์-ปัตตานี)

 

วงศ์  Neolamarckia Bosser มี 2 ชนิด พบในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยมีชนิดเดียว ซึ่งเดิมเข้าใจว่าชื่อพฤกษศาสตร์คือ Anthocephalus chinensis (Lam.) A. Rich. ex Walp. ที่ปัจจุบันเป็นชื่อพ้องของ Breonia chinensis (Lam.) Capuron ชื่อชนิดมาจากภาษาบาลี “กทัมพ” และเป็นที่มาของชื่อ กระทุ่ม ในภาษาไทย ชื่อสกุลน่าจะมาจากเมล็ดคล้ายหญ้าในสกุล Lamarckia

ลักษณะ

 ไม้ต้น สูงได้ถึง 45 ม. กิ่งออกตั้งฉากกับลำต้น หูใบรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 1-2.5 ซม. ร่วงเร็ว ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปรี หรือรูปขอบขนาน ยาว 12-25 ซม. โคนมน กลม หรือเว้าตื้น แผ่นใบด้านล่างมักมีขนละเอียด ก้านใบยาว 2-3.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกเดี่ยว ๆ ที่ปลายกิ่ง เส้นผ่านศูนย์กลาง 4-5 ซม. ก้านช่อยาว 1.5-4 ซม. ดอกรูปดอกเข็มสีครีมอัดกันแน่น ก้านดอกสั้นมาก ใบประดับ 1-3 คู่ หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2 มม. มี 5 กลีบ รูปช้อน ยาวเท่า ๆ หลอดกลีบ ติดทน หลอดกลีบดอกยาว 5-9 มม. ปลายแยกเป็น 5 กลีบ รูปใบหอก ยาว 2-3 มม. เกสรเพศผู้ 5 อัน อับเรณูรูปแถบ ยาวประมาณ 2 มม. ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอกเล็กน้อย รังไข่ใต้วงกลีบ มี 2 ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านเกสรเพศเมียรวมยอดเกสรรูปกระบอง ยาว 1.5-2 ซม. ผลกลุ่มเป็นกระจุกกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4 ซม. ผลย่อยแยกกัน ยาวประมาณ 3 มม. เมล็ดรูปสามเหลี่ยม

การระจายพันธุ์ พบที่อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ ศรีลังกา พม่า จีน ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และนิวกินี ขึ้นตามชายป่า ตามหุบเขาหรือริมลำธาร ความสูงถึงประมาณ 1300 เมตร ดอกมีกลิ่นหอม เป็นไม้โตเร็วมาก เนื้อไม้ละเอียด น้ำหนักเบา ใช้ทำเยื่อกระดาษ นิยมปลูกเป็นไม้สวนป่า รู้จักกันในชื่อ ตะกูหรือตะกูยักษ์

**พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงปลูกไว้ ณ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศภูพานน้อย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ถวายโดยมูลนิธิดินดีน้ำใส แห่งประเทศไทย

ที่มา : สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)